หลาย ๆ คน อาจเคยวาดฝันไว้ว่า อยากมีพิธีแต่งงานในโบสถ์สุดโรแมนติก (ขอกระซิบบอกว่า Bride To Be เองก็เช่นกันค่ะ) แต่ก็ใช่ว่าคู่รักทุกคู่จะสามารถจัดพิธีในโบสถ์ได้ เพราะการแต่งงานในโบสถ์สงวนไว้สำหรับชาวคริสต์ “คาทอลิก” หรือ ชาวคาทอลิกที่จะสมรสกับคนรักต่างศาสนาเท่านั้น
และแม้ว่าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเป็นคาทอลิกอยู่แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะเดินดุ่ม ๆ ไปขอบาทหลวงเจ้าอาวาสจองวันและเวลาได้เลย การแต่งงานในโบสถ์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเสียจนเกินไปเช่นกัน Bride To Be ในฐานะที่เป็นคาทอลิก และผ่านการเตรียมตัวในขั้นตอนต่าง ๆ มาแล้ว ขออนุญาตแชร์ประสบการณ์ของตนเอง เผื่อว่าผู้อ่านท่านใดที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่พิธีสมรสตามหลักคาทอลิกเช่นกัน จะได้ศึกษาไว้เพื่อเป็นแนวทางค่ะ
ความสำคัญของการแต่งงานแบบคาทอลิก
นอกจากภาพบรรยากาศชวนฝัน ภายในโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์และสวยงามแล้ว การแต่งงานแบบคาทอลิก ถือเป็นการรับพระพรจากพระผู้เป็นเจ้า พร้อมการให้พันธสัญญาต่อกันและกัน ซึ่งเป็นข้อผูกมัดที่จะต้องถือปฏิบัติจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ดังนั้น การแต่งงาน จึงเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต เพราะตามหลักคำสอนแล้ว การแต่งงานคือจุดเริ่มต้นในการสร้างครอบครัวเพื่ออยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา และสร้างประชากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ อีกประการคือ ชาวคาทอลิกจะสามารถแต่งงานได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถหย่าร้างเพื่อไปแต่งงานใหม่ได้ เว้นแต่คู่สมรสจะเสียชีวิตไปแล้ว หรือได้รับการประกาศจากพระศาสนจักรให้พันธสัญญานั้นเป็นโมฆะเสียก่อน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ และดำเนินเรื่องผ่านทางศาลของพระศาสนจักรเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องกระทำก่อนแต่งงานแบบคาทอลิก จึงมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงานอย่างดีที่สุดค่ะ
ระเบียบปฏิบัติของการแต่งงานแบบคาทอลิก
- ต้องมีพื้นฐานสำคัญคือ “ความรัก” ที่ทั้ง 2 คนจะต้องมีต่อกันอย่างแท้จริง จึงต้องศึกษาดูใจกันพอสมควร
- ต้องมีเจตนาที่จะมีบุตร
- ต้องมีอิสระ หรือ เสรีภาพในการตัดสินใจเลือกคู่แต่งงานด้วยตัวเอง มิได้ถูกบังคับ
- ต้องเตรียมตัวเข้าสู่การแต่งงานอย่างดี ด้วยการเรียนรู้การดำรงชีวิตครอบครัวตามหลักปฏิบัติของคาทอลิก
- ต้องถือการมีสามีเดียว-ภรรยาเดียว จะเลิกราหย่าร้างกันไม่ได้ ต้อง “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข” กันไปตลอดชีวิต
ศีลสมรส และ พิธีสมรส แตกต่างกันอย่างไร
การแต่งงานแบบคาทอลิก ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคาทอลิก โดยพระศาสนจักรไม่ได้ห้ามการแต่งงานแบบต่างศาสนา แต่ขอให้ฝ่ายคาทอลิกประพฤติปฏิบัติตนเป็นคริสตชนที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คู่ชีวิตของตน การแต่งงานจึงแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ “ศีลสมรส” และ “พิธีสมรส” ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้
- ศีลสมรส หมายถึง การแต่งงานระหว่าง คาทอลิก กับ คาทอลิก ถือเป็น ศีลศักดิ์สิทธิ์
- พิธีสมรส หมายถึง การแต่งงานระหว่าง คาทอลิก กับ ผู้มิใช่คาทอลิก ไม่ถือเป็น ศีลศักดิ์สิทธิ์
ลำดับขั้นตอนในการเตรียมตัว ก่อนแต่งงานแบบคาทอลิก
เมื่อคนรักทั้ง 2 คน ตกลงปลงใจซึ่งกันและกันแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนเข้าสู่พิธีแต่งงานแล้วค่ะ โดยเริ่มจากการติดต่อขอเข้ารับการอบรมเตรียมชีวิตสมรส จากนั้นจึงนำใบประกาศนียบัตร ไปยื่นขอติดต่อเพื่อจองโบสถ์ (คุณพ่อยอห์น ไพโรจน์ สมงาม วัดพระมหาไถ่ เป็นผู้แนะนำ Bride To Be มาค่ะ ว่าหากเราผ่านการอบรมแล้ว จะนำใบประกาศไปใช้ยื่นจองโบสถ์ที่ใดก็ได้ แต่ก็มีเพื่อน ๆ คาทอลิกบางคน ได้รับคำแนะนำมาจากคุณพ่อท่านอื่น ๆ ว่าให้ไปติดต่อโบสถ์ก่อนแล้วจึงมาอบรมทีหลัง แต่ Bride To Be เลือกที่จะไปเข้ารับการอบรมก่อนค่ะ กรณีนี้อาจจะสุดแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละท่านนะคะ)
เมื่อผ่านการอบรมเตรียมชีวิตสมรส และติดต่อจองวันเวลากับโบสถ์ด้วยตนเองแล้ว จะถึงขั้นตอนการพิจารณาเอกสารหลักฐาน และการสัมภาษณ์คู่สมรสโดยบาทหลวงเจ้าอาวาส ของโบสถ์ที่เราจะเข้าพีธีนะคะ แต่เดิมนั้นเราเรียกขั้นตอนนี้กันว่าการสอบสวน แต่ฟังดูแล้วอาจจะน่ากลัวนิด ๆ ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า การสัมภาษณ์แทนค่ะ ในส่วนของผู้ที่เป็นคาทอลิก ก็ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการแก้บาปมาแล้วอย่างดี และปฏิบัติศาสนากิจเป็นประจำค่ะ สำหรับลำดับขั้นตอนต่าง ๆ Bride To Be ช่วยลิสต์ออกมาเป็นข้อ ๆ ดังนี้นะคะ

ตัวอย่างเอกสาร ที่ Bride To Be และ Groom To Be เข้ารับการอบรมมาค่ะ
-
การอบรมเตรียมชีวิตสมรส
การอบรมเตรียมชีวิตสมรส กล่าวง่าย ๆ คือ การอบรมเตรียมจิตใจก่อนแต่งงาน ช่วยส่งเสริมให้การเริ่มต้นชีวิตแต่งงานเป็นไปด้วยดี และก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์ ปัจจุบันเปิดอบรมอยู่ 2 แห่ง คือ วัดพระมหาไถ่ และ วัดอัสสัมชัญ ค่ะ โดย Bride To Be และ Groom To Be สะดวกในการเดินทางไปอบรมที่วัดพระมหาไถ่ ซอยร่วมฤดีค่ะ ท่านใดสะดวกวันเวลาใดลองดูรายละเอียดนะคะ
- วัดพระมหาไถ่ (ซอยร่วมฤดี)
เปิดอบรมภาคภาษาไทย ในวันอาทิตย์ที่ 1 และ 2 ของทุกเดือน เวลา 08.00 – 12.00 น.
เปิดอบรมภาคภาษาอังกฤษ ในวันเสาร์ที่ 2 ของทุกเดือน เวลา 08.00 – 12.00 น.
สามารถเข้าไปดาวน์โหลดใบสมัครได้ ที่นี่ และส่งไปที่อีเมล redeemerbangkok@gmail.com - วัดอัสสัมชัญ (บางรัก)
เปิดอบรมในวันอาทิตย์ที่ 3 และ 4 ของทุกเดือน เวลา 08.30 – 12.00 น.
สามารถติดต่อเข้ารับการอบรม ได้ที่ 02-2371031, 02-2375284, 02-2337441ไม่ว่าจะเลือกอบรมที่ไหนก็ตาม คู่แต่งงาน ต้องเข้ารับการอบรมต่อเนื่องกันให้ครบทั้งสองครั้งนะคะ สำหรับ Bride To Be เอง หลังส่งใบสมัครผ่านทางอีเมลแล้ว เมื่อถึงวันเจ้าหน้าที่ก็จะโทรมายืนยันกับเราอีกครั้งค่ะ สำหรับบรรยากาศในการอบรมที่วัดพระมหาไถ่ ทางวัดได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมีประสบการณ์การใช้ชีวิตคู่ เพื่อมาให้ข้อคิดว่า หลังแต่งงานเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อมีปัญหามีการรับมืออย่างไร จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้เป็นครอบครัวคริสตชนที่ดี เป็นคนดี อยู่ในสังคมที่ดีค่ะ
ใบประกาศนียบัตรที่ได้รับหลังอบรมเสร็จค่ะ เราเป็น คาทอลิก ทั้งคู่ จึงจะเข้าพิธีศีลสมรสค่ะ
- วัดพระมหาไถ่ (ซอยร่วมฤดี)
-
ติดต่อจองวันและเวลากับโบสถ์ด้วยตนเอง เตรียมเอกสารหลักฐาน และสัมภาษณ์กับบาทหลวงเจ้าอาวาสโบสถ์
ในขั้นตอนนี้ เมื่อไปถึง ทางโบสถ์จะให้เรากรอกเอกสาร ชื่อว่า “แบบสอบถามก่อนการรับศีลสมรส” ซึ่งคู่บ่าวสาวจะต้องกรอกกันคนละชุดนะคะ เจ้าอาวาสจะซักถามประวัติและข้อมูลต่าง ๆ จากเราและคู่สมรส ระหว่างนั้นก็จะมีการสัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบข้อขัดขวาง เช่น เคยแต่งงานมาก่อนหรือไม่ มั่นใจแล้วหรือไม่ที่จะใช้ชีวิตคู่ และคำถามอื่น ๆ ทั่วไป ไม่มีอะไรน่ากังวลค่ะ เพื่อให้แน่ใจว่าการแต่งงานในครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฏของพระศาสนจักร และทางโบสถ์จะบันทึกประวัติของคู่แต่งงานทั้งสองฝ่ายก่อนเข้าพิธีแต่งงานด้วยค่ะ สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมไป มีดังนี้ค่ะ
สำหรับผู้ที่เป็นคริสตชน
1. สำเนาศีลล้างบาป ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน (ขอได้ที่วัดที่รับศีลล้างบาป)
2. สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (หากมีการเปลี่ยน)
3. สำเนาบัตรประชาชน
4. สำเนาทะเบียนบ้าน
5. สำเนามรณะบัตรของคู่ครองเดิม (หากเคยแต่งงานมาก่อน)
6. สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส
7. รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป
สำหรับผู้ที่มิได้เป็นคริสตชน
1. ใบรับรองสถานะของของฝ่ายที่มิใช่คาทอลิก (ขอแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานโบสถ์)
2. สำเนาการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล (ถ้ามีการเปลี่ยน)
3. สำเนาบัตรประชาชน
4. สำเนาทะเบียนบ้าน
5. สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรอง
6. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับรอง
7. สำเนามรณบัตรของคู่ครองเดิม (หากเคยแต่งงานมาก่อน)
8. สำเนาประกาศนียบัตรอบรมชีวิตคู่สมรส
9. รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูปนอกจากการเตรียมเอกสารหลักฐานแล้ว ยังต้องมีการสัมภาษณ์กับบาทหลวงเจ้าอาวาสก่อนการแต่งงาน ซึ่งขั้นตอนนี้ควรติดต่อล่วงหน้าก่อนกำหนดการแต่งงานอย่างน้อย 1 เดือนค่ะ
-
ประกาศข่าวแต่งงานภายในโบสถ์
หลังจากผ่านขั้นตอนการพิจารณาเอกสาร ผ่านการสัมภาษณ์ และตกลงวันเวลาในการทำพิธีกับบาทหลวงเจ้าอาวาสแล้ว โบสถ์จะประกาศข่าวการแต่งงานของคู่สมรสในช่วงท้ายของพิธีมิสซา และจัดพิมพ์ลงในคอลัมน์ประกาศแต่งงานในสารวัดของแต่ละสัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ข่าวดีของพิธีแต่งงานให้สังคมคริสตชนรับรู้ และร่วมยินดี รวมถึงเป็นการสำรวจหากมีบุคคลใดมีข้อขัดแย้งเพิ่มเติมจะได้สามารถแจ้งให้บาทหลวงรับทราบ
ในส่วนของการขัดแย้งระหว่างพิธีแต่งงานมีจริง ๆ นะคะ แบบที่เราเห็นกันในภาพยนตร์นั่นแหละค่ะ แต่ถือเป็นส่วนน้อย มีเกิดขึ้นไม่มากนัก ยกตัวอย่างตามที่ Bride To Be ได้ฟังเรื่องเล่ามาจากบาทหลวง ระหว่างการอบรมเตรียมชีวิตสมรส ก็ค่อนข้างดราม่านิดนึงค่ะ เช่น สืบไปสืบมาพบว่า คู่บ่าวสาวเป็นพี่น้องคลานตามกันมา แต่แยกกันอยู่ตั้งแต่กำเนิด ก็ไม่สามารถที่จะครองคู่กันฐานะสามีภรรยาได้ จึงมีอันต้องยกเลิกพิธีไป เป็นต้นค่ะ
-
ซ้อมพิธีแต่งงาน
หลังผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้ว บาทหลวงเจ้าอาวาสจะหารือกับคู่บ่าวสาว เพื่อกำหนดวันเวลาสำหรับการซ้อมพิธีต่อไปค่ะ โดยส่วนใหญ่จะซ้อมก่อนวันพิธี ประมาณ 1-2 สัปดาห์
สุดท้ายคือ “พิธีศีลสมรส” หรือ “พิธีแต่งงาน” แบบคาทอลิก
มีลำดับพิธีอย่างไรบ้างนั้น ติดตามอ่านได้ต่อที่
ลำดับขั้นตอน “พิธีแต่งงานคาทอลิก” ฉบับ 101 สำหรับคู่บ่าวสาวมือใหม่